Background



ข่าวประชาสัมพันธ์
img
พระบรมฉายาลักษณ์พระราชทาน สำหรับกิจกรรมเฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ สมเด็จพระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนี พันปีหลวง
5 สิงหาคม 2567

111


พระราชประวัติ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง

สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง พระบรมราชินีนาถใน พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เป็นพระธิดาองค์ใหญ่ของพลเอก พระวรวงศ์เธอ กรมหมื่นจันทบุรีสุรนาถ กับหม่อมหลวงบัว กิติยากร สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี ในพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชทานนามว่า “สิริกิติ์” ซึ่งมีความหมายว่า “ผู้เป็นศรี แห่งกิติยากร” ทรงพระราชสมภพเมื่อวันศุกร์ที่ ๑๒ สิงหาคม พุทธศักราช ๒๔๗๕ ที่บ้านพลเอก เจ้าพระยาวงศานุประพัทธ์ (หม่อมราชวงศ์สท้าน สนิทวงศ์) ผู้เป็นบิดาของหม่อมหลวงบัว ณ บ้านเลขที่ ๑๘๐๘ ถนนพระรามหก ตำบลวังใหม่ อำเภอปทุมวัน จังหวัดพระนคร ขณะนั้นเป็นระยะที่ประเทศเพิ่งเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์เป็นระบอบประชาธิปไตย ก่อนหน้านั้นพระบิดาของพระองค์ทรงดำรงตำแหน่งผู้ช่วยเสนาธิการทหารบก มียศเป็นพันเอก หม่อมเจ้านักขัตรมงคล กิติยากร

หลังจากเปลี่ยนแปลงการปกครองในวันที่ ๒๔ มิถุนายน พุทธศักราช ๒๔๗๕ หม่อมเจ้านักขัตรมงคลทรงออกจากราชการทหาร โดยรัฐบาลแต่งตั้งให้ไปรับราชการในตำแหน่งเลขานุการเอก ประจำสถานทูตสยาม ณ กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. ประเทศสหรัฐอมริกา ส่วนหม่อมหลวงบัวซึ่งมีครรภ์แก่คงพำนักอยู่ในประเทศไทย จนให้กำเนิดหม่อมราชวงศ์สิริกิติ์แล้วจึงเดินทางไปสมทบ มอบหม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ให้อยู่ในความดูแลของเจ้าพระยาวงศานุประพัทธ์ และท้าววนิดาพิจาริณี ผู้เป็นบิดาและมารดาของหม่อมหลวงบัว

หม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ต้องอยู่ห่างไกลบิดามารดาตั้งแต่อายุยังน้อย บางคราวต้องระหกระเหินไปต่างจังหวัดตามเหตุการณ์ผันผวนทางการเมือง เช่น ในพุทธศักราช ๒๔๗๖ หม่อมเจ้าอัปษรสมาน กิติยากร พระมารดาของหม่อมเจ้านักขัตรมงคล ได้ทรงรับนัดดาตามเสด็จพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวไปสงขลาด้วย

ปลายพุทธศักราช ๒๔๗๗ หม่อมเจ้านักขัตรมงคลทรงลาออกจากราชการกลับประเทศไทยพร้อมครอบครัว อันมีหม่อมหลวงบัว หม่อมราชวงศ์กัลยาณกิติ์ บุตรคนโต และหม่อมราชวงศ์ บุษบา บุตรีคนเล็กผู้เกิดที่สหรัฐอเมริกา แล้วมารับหม่อมราชวงศ์อดุลกิติ์ บุตรคนรอง กับ หม่อมราชวงศ์สิริกิติ์จาก หม่อมเจ้าอัปษรสมาน กลับมาอยู่รวมกันที่ตำหนักซึ่งตั้งอยู่ที่ถนนกรุงเกษม ปากคลองผดุงกรุงเกษม ริมแม่น้ำเจ้าพระยา

หม่อมราชวงศ์สิริกิติ์เริ่มเรียนชั้นอนุบาลที่โรงเรียนราชินี ปากคลองตลาด ในพุทธศักราช ๒๔๗๙ แต่เมื่อสงครามมหาเอเชียบูรพาลุกลามมาถึงประเทศไทย จังหวัดพระนครถูกโจมตีทางอากาศบ่อยครั้งทำให้การเดินทางไม่สะดวกและไม่ปลอดภัย ในพุทธศักราช ๒๔๘๓ จึงย้ายไปเรียนชั้นประถมและมัธยมที่โรงเรียนเซนต์ฟรังซีสซาเวียร์คอนแวนต์ ถนนสามเสน เพราะอยู่ใกล้บ้านในระยะที่พอจะเดินไปโรงเรียนเองได้ หม่อมราชวงศ์สิริกิติ์เริ่มเรียนเปียโนที่โรงเรียนเซนต์ฟรังซีสซาเวียร์คอนแวนต์ และในเวลาต่อมาได้ตั้งใจที่จะเป็นนักเปียโนผู้มีชื่อเสียง

หม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ได้เผชิญสภาพของสงครามโลกมาเช่นเดียวกับคนไทยทั้งหลาย หม่อมเจ้านักขัตรมงคลผู้ทรงเป็นทหารเป็นผู้ปลูกฝังให้บุตรและบุตรีรู้จักความมีวินัย ความอดทน ความกล้าหาญ ความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ และความเสียสละ โดยอาศัยสถานการณ์สงครามเป็นตัวอย่าง และสงครามโลกก็ทำให้คนไทยทั้งปวงต้องหันหน้าเข้าช่วยเหลือกันในยามทุกข์ยาก สิ่งเหล่านี้จึงหล่อหลอมหม่อมราชวงศสิริกิติ์ให้มีความเมตตาต่อผู้อื่นและรักความมีระเบียบแบบแผนมาตั้งแต่เยาว์วัย

หลังจากสงครามสงบแล้ว นายกรัฐมนตรีในสมัยนั้น คือนายควง อภัยวงศ์ ได้แต่งตั้งให้หม่อมเจ้านักขัตรมงคลเป็นอัครราชทูตประจำประเทศอังกฤษ หม่อมเจ้านักขัตรมงคลจึงทรงพาครอบครัวทั้งหมดไปด้วยในกลางพุทธศักราช ๒๔๘๙ ขณะนั้นหม่อมราชวงศ์สิริกิติ์เรียนจบชั้นมัธยมปีที่ ๓ ของโรงเรียนเซนต์ฟรังซีสซาเวียร์คอนแวนต์แล้ว

ระหว่างที่อยู่ในประเทศอังกฤษ หม่อมราชวงศ์สิริกิติ์เรียนเปียโน ภาษาอังกฤษและภาษาฝรั่งเศสกับครูพิเศษ แต่อยู่ที่อังกฤษได้ไม่นาน พุทธศักราช ๒๔๙๐ หม่อมเจ้านักขัตรมงคลก็ทรงย้ายไปเป็นอัครราชทูตประจำประเทศฝรั่งเศสและเดนมาร์ก ก่อนจะกลับมาเป็นเอกอัครราชทูตประจำประเทศอังกฤษอีกครั้งหนึ่ง ระหว่างนี้หม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ ยังคงตั้งใจเรียนเปียโนอย่างขะมักเขม้นเพื่อเตรียมสอบเข้าวิทยาลัยการดนตรีที่มีชื่อเสียงของกรุงปารีส

พระราชประวัติ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง

พุทธศักราช ๒๔๙๑ ขณะที่หม่อมเจ้านักขัตรมงคลและครอบครัวอยู่ในปารีส ได้รับเสด็จสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ซึ่งโปรดเสด็จพระราชดำเนินไปทอดพระเนตรโรงงานทำรถยนต์ในกรุงปารีสอยู่เสมอ จนเป็นที่คุ้นเคยและต้องพระราชอัธยาศัย ฉะนั้นเมื่อสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงประสบอุปัทวเหตุทางรถยนต์ในประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ต้องประทับรักษาพระองค์ในสถานพยาบาล จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้หม่อมหลวงบัวพาบุตรี ทั้งสองคือหม่อมราชวงศ์สิริกิติ์และหม่อมราชวงศ์บุษบาเข้าเฝ้าทูลละอองพระบาทเยี่ยมพระอาการเป็นประจำ จนพระอาการประชวรทุเลาลงและเสด็จกลับพระตำหนักได้

สมเด็จพระราชชนนีได้รับสั่งขอให้หม่อมราชวงศ์สิริกิติ์อยู่ศึกษาต่อที่เมืองโลซานน์ในโรงเรียนประจำชื่อโรงเรียน Riante Rive ซึ่งเป็นโรงเรียนที่มีชื่อเสียงในการสอนวิชาพิเศษแก่กุลสตรี คือ ภาษา ศิลปะ ดนตรี ประวัติวรรณคดี และประวัติศาสตร์

ต่อมาอีก ๑ ปี ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้หม่อมเจ้านักขัตรมงคลและครอบครัวมาเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท แล้วสมเด็จพระราชชนนีรับสั่งขอหม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ ต่อหม่อมเจ้านักขัตรมงคลและทรงประกอบพิธีหมั้นเป็นการภายใน ในวันที่ ๑๙ กรกฎาคม พุทธศักราช ๒๔๙๒ ทรงใช้พระธำมรงค์ที่สมเด็จพระราชบิดาทรงหมั้นสมเด็จพระราชชนนีเป็นพระธำมรงค์หมั้น แล้วโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้หม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ศึกษาต่อไปจนถึงกำหนดตามเสด็จกลับมาถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล ในเดือนมีนาคม พุทธศักราช ๒๔๙๓

วันที่ ๒๘ เมษายน พุทธศักราช ๒๔๙๓ มีพระราชพิธีราชาภิเษกสมรส ณ วังสระปทุม สมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า ทรงเป็นประธานพระราชทานน้ำพระพุทธมนต์และ เทพมนตร์ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช และหม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ ได้ทรงจดทะเบียนสมรสตามกฎหมาย และในวันนั้น สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงสถาปนาหม่อมราชวงศ์สิริกิติ์เป็นสมเด็จพระราชินีสิริกิติ์

วันที่ ๕ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๔๙๓ เป็นวันพระราชพิธีบรมราชาภิเษก สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงรับเฉลิมพระบรมนามาภิไธยว่า “พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว” และทรงเฉลิมพระยศ สมเด็จพระราชินีสิริกิติ์ เป็นสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินี

วันที่ ๕ มิถุนายน พุทธศักราช ๒๔๙๓ ทั้งสองพระองค์เสด็จกลับประเทศสวิตเซอร์แลนด์เพราะแพทย์ผู้ถวายการรักษาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว กราบบังคมทูลแนะนำให้ทรงพักรักษาพระองค์อีกระยะหนึ่ง พุทธศักราช 2494 สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินี มีพระประสูติกาลสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าอุบลรัตนราชกัญญาฯ ณ เมืองโลซานน์ ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เมื่อเจริญพระชันษาได้ ๗ เดือน ทั้งสามพระองค์จึงเสด็จนิวัติประเทศไทย ประทับ ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าวชิราลงกรณฯ ซึ่งปัจจุบันคือ พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ มหิศรภูมิพลราชวรางกูร กิติสิริสมบูรณอดุลยเดช สยามินทราธิเบศร ราชวโรดม บรมนาถบพิตร พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิรินธรเทพรัตนสุดาฯ ซึ่งปัจจุบันเฉลิมพระอิสริยยศเป็น สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิรินธรเทพรัตนสุดาฯ ปัจจุบันเฉลิมพระอิสริยยศ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา เจ้าฟ้ามหาจักรีสิริธร มหาวชิราลงกรณวรราชภักดี สิริกิจการิณีพีรยพัฒน รัฐสีมาคุณากรปิยชาติ สยามบรมราชกุมารี และสมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ฯ ซึ่งปัจจุบันเฉลิมพระอิสริยยศเป็น สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี ได้ประสูติต่อมาตามลำดับ ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน รวมพระราชโอรสและพระราชธิดา ๔ พระองค์

ปลายพุทธศักราช ๒๔๙๘ สมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า ผู้ทรงดำรงตำแหน่งสภานายิกาสภากาชาดไทยเสด็จสวรรคต พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จึงทรงแต่งตั้งสมเด็จพระบรมราชินีให้ทรงดำรงตำแหน่งสภานายิกาแทน เมื่อวันที่ ๑๒ สิงหาคม พุทธศักราช ๒๔๙๙ และในปีเดียวกันนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จออกทรงพระผนวชตามโบราณราชประเพณี จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งสมเด็จพระบรมราชินีเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ภายหลังเมื่อทรงลาผนวชแล้ว ได้ทรงสถาปนาพระราชอิสริยยศสมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีขึ้นเป็น สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ อันมีความหมายว่าทรงเป็นที่พึ่งของประชาชน นับเป็นสมเด็จพระบรมราชินีนาถพระองค์ที่สองของไทยต่อจากสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ ซึ่งทรงปฏิบัติราชการแทนพระองค์เมื่อครั้งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินเยือนยุโรป

สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ได้ทรงปฏิบัติพระราชกรณีกิจน้อยใหญ่ทั้งในฐานะที่ทรงเป็นสมเด็จพระบรมราชินีของไทย และในฐานะคู่พระราชหฤทัยแห่ง พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร กล่าวคือทรงช่วยแบ่งเบาพระราชภารกิจทั้งหลายไปได้เป็นอันมาก ทั้งยังมีพระราชดำริเริ่มใหม่เพื่อช่วยเหลือประชาชนและพัฒนาประเทศอย่างอเนกอนันต์ ซึ่งโครงการพระราชดำริเหล่านั้นได้ยังประโยชน์มหาศาลแก่ประชาชนสืบมาจนทุกวันนี้

(พระบรมฉายาลักษณ์พระราชทาน สำหรับกิจกรรมเฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ สมเด็จพระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนี พันปีหลวง)

๑๒ สิงหาคม ๒๕๖๗ เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง

ขอพระองค์ทรงพระเจริญ

ข้าพระพุทธเจ้า ผู้บริหาร สมาชิกสภาเทศบาล ข้าราชการ พนักงาน และเจ้าหน้าที่ เทศบาลตำบลท่านา