Background



แหล่งท่องเที่ยว
หลวงพ่อเซ่งหลวงพ่อเซ่ง
1159
18 พฤษภาคม 2563

ประวัติหลวงพ่อเซ่ง หลวงพ่อเซ่งหรือพระครูเซ่ง จันทมณี อดีตเจ้าอาวาสวัดปากถัก หรือว่าวัดอินทภูมิ เป็นพระเกจิอาจารย์ที่ชาวบ้านเลื่อมใสศัทธามาก พระครูเซ่ง จันทมณี เดิมชื่อ ด.ช.เซ่ง แซ่ลิ่ม เกิดเมื่อ ปี พ.ศ. 2405 มีบิดาชื่อนายห้องคี่ มารดาชื่อนางทิม มีพี่น้อง 2 คน มีน้องสาวชื่อ ด.ญ. พลอย แซ่ลิ่ม เป็นชาวตำบลตลิ่งชัน อำเภอพุนพิน จังหวัดสุราษฎร์ธานี อายุได้ 8 ปี บิดาพาไปฝากตัวเป็นศิษย์ของพระครูหนูแห่งวัดดอนกระถิน ด.ช.เซ่ง เป็นเด็กฉลาด ได้รับการถ่ายทอดวิชาความรู้ ทั้งด้านวิชาไสยศาสตร์ วิชาอาคม ตำรายาสมุนไพร และวิชาความรู้ต่าง ๆ จากพระครูหนูจนหมดไส้หมดพุง มีความรู้พอพาตัวรอดได้ จนอายุได้ 13 ปี ด.ช.เซ่ง ได้ขออนุญาตบิดา มารดา เดินทางไปยังบ้านในหนดซึ่งขึ้นกับเมืองตะกั่วป่า สมัยนั้นอำเภอกะปงยังไม่ได้ตั้งเป็นอำเภอ (บ้านในหนดปัจจุบันคือ หมู่ 4 ตำบลเหมาะ อำเภอกะปง จังหวัดพังงา) โดยได้ร่วมเดินทางไปกับคณะมโนราห์แต้ม การเดินทางต้องรอนแรม ค่ำที่ไหนนอนที่นั่น ข้ามแม่น้ำลำคลอง ข้ามเทือกเขานางพันธรัตน์ เทือกเขาศก เดินทางถึงหมู่บ้านหลังพม่า (ปัจจุบันคือตำบลรมณีย์ อำเภอกะปง จังหวัดพังงา) เดิมขึ้นกับเมืองตะกั่วป่า เดินทางถึงบ้านในหนดโดยสวัสดิภาพ พักอยู่หลายคืน ด.ช.เซ่ง ได้ร่วมแสดงมโนราห์โดยรับบทเป็นหัวจุก (นางเอก) แสดงอยู่หลายคืน จนได้พบกับแม่ฉ้วน เอียบสร้างกี่ ท่านเป็นคนมีฐานะดี (ทำเหมืองแร่ดีบุก) ท่านรักและเอ็นดู ด.ช.เซ่งมาก จึงขอ ด.ช.เซ่ง จากมโนราห์แต้มมาเป็นบุตรบุญธรรม มโนราห์แต้มก็อนุญาตยกให้เป็นบุตรบุญธรรมของแม่ฉ้วน เมื่อมาอยู่กับแม่ฉ้วน อายุได้ 15 ปีได้บวชเป็นสามเณรกับพระสมุทห์จันทร์ เจ้าอาวาสวัดบางนา(วัดปากหนด) บวชได้ 1 ปี ก็สึกมาช่วยทำงานและดูแลกิจการต่าง ๆ ของแม่ฉ้วน และได้เดินทางไปเที่ยวบ้านลำแก่น(อำเภอท้ายเหมือง) พักอาศัยอยู่กับนายเกลื้อม จนมารู้จักกับนางฉุ้น ลูกสาวของหลวงภาษีจังหวัดพังงา ชอบพอกัน ได้ทำการสู่ขอนางฉุ้นกับหลวงภาษี เมื่อได้นางฉุ้นเป็นภรรยา ก็เดินทางกลับมาอยู่บ้าน ในหนด นางฉุ้นมีลูกติดมา 1 คน ชื่อ ด.ญ. ฮ่าน ต่อมานางฉุ้นได้บุตรธิดากับนายเซ่ง 2 คน คนโตชื่อ ด.ญ.แดง คนน้องชื่อ ด.ช.วุ่น แซ่ลิ่ม หลายปีต่อมานายเซ่งเกิดเบื่อหน่ายชีวิตทางโลก จึงออกบวชเป็นพระภิกษุ เมื่ออายุได้ 39 ปี ตรงกับ พ.ศ.2444 กับพระสมุทห์จันทร์ที่วัดบางนา (วัดปากหนด) ได้ฉายา “จันทมณี” บวชได้ 5 พรรษา กำนันนวล ทิพย์รงค์ และชาวบ้านบ้านปากถักได้มานิมนต์ให้ไปเป็นเจ้าอาวาสวัดปากถักต่อจากพ่อท่านอินทร์ที่ได้มรณะภาพ พระสมุทห์จันทร์ก็อนุญาตให้ไป (วัดปากถักเดิมตั้งอยู่ที่ราบเชิงเขาวัดอินทภูมิปัจจุบัน) ต่อมาพ่อท่านเซ่งได้ย้ายวัด ขึ้นไปอยู่บนเนินเขา และได้พัฒนาวัดร่วมกับชาวบ้านที่ศรัทธานับถือพ่อท่านเซ่งโดยมีฝรั่งชื่อ ทิเลอร์กับ โปรดา เป็นผู้จัดการของบริษัทเอเชียติก ที่ให้ความเคารพนับถือพ่อท่านเซ่งมากคอยให้ความช่วยเหลือด้านเครื่องมือต่าง ๆ พ่อท่านเซ่งพัฒนาวัดจนเจริญรุ่งเรืองและได้รับการแต่งตั้งให้เป็นพระครูเซ่ง จันทมณีหลังจากท่านได้รับยศเป็นพระครูเซ่ง จันทมณี ท่านได้ขออนุญาตเจ้าคณะจังหวัดพังงาตั้งชื่อวัดขึ้นมาใหม่ ชื่อว่าวัดอินทภูมิเป็นอนุสรณ์ให้กับพ่อท่านอินทร์ พระครูเซ่งเป็นพระที่มีความรู้เรื่องวิชาอาคม ยาสมุนไพร และศึกษาธรรมะจนแตกฉาน จนเป็นที่เล่าลือของชาวบ้านว่าท่านมีวาจาสิทธิ์ บ้างก็บนบานศาลกล่าว เมื่อได้ผลก็มาแก้บนเช่น ปิดทองที่แขนขาของท่าน บ้างก็ถวายขาหมูต้ม ถวายน้ำพริกทำมัง และจุดประทัดถวายเป็นต้น พระครูเซ่ง จันทมณี ได้ร่วมกับชาวบ้านและฝรั่งชื่อทิเลอร์และโปรดา สร้างพระอุโบสถจนสำเร็จ และจัดให้มีงานปิดทองฝังลูกนิมิตร (ผูกพัทธสีมา) ตรงกับวันอาทิตย์เดือน 4 (มีนาคม) พ.ศ. 2479 หลังจากจัดงานปิดทองฝังลูกนิมิตร ประมาณ 5 เดือน พระครูเซ่ง จันทมณี ก็มรณะภาพ ตรงกับแรม 2 ค่ำเดือน 9 ปีชวด(วันที่ 4 สิงหาคม พ.ศ. 2479 ) รวมอายุได้ 74 ปี 35 พรรษา ข้อมูลจาก : คุณจรรยา อ่าวสมบูรณ์